เปลี่ยนเป็นภาษาไทย

Change to English
 ข่าว
  กลับหน้าหลัก
ข่าวทั้งหมด 58
ข่าวที่ปัจจุบัน 0
ข่าว: น้ำนมแม่
  โดย
อชิร
ห้องสมุดโรงพยาบาลยุวประสาทไวทโยปถัมภ์
อชิร

  เมื่อ11:44 21/สิงหาคม/2563 (4 ปี 10 เดือนที่แล้ว)
น้ำนมแม่
            น้ำนมแม่มีคุณค่ายิ่งทางโภชนาการ ช่วยใหเด็กเจริญเติบโตและเสริมสร้างภูมิต้านทานให้แก่ร่างกาย รวมทั้งให้คุณค่าทางด้านจิตใจ การให้นมแม่สะดวก ประหยัดทั้งเงินและเวลา แม่-ลูกได้สัมผัสอย่างใกล้ชิด การให้นมแม่จะช่วยตอบสนองสัญชาติญาณการดูดของลูก และเด็กสามารถดูดได้นานเท่าใดก็ได้ แม่เองก็มีความสุขในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่และยังช่วยสร้างสายสัมพันธ์แม่-ลูก ได้อีกทางหนึ่ง
การให้นมลูก
1.ท่าให้นมลูก การให้นมลูกแม่บางคนอาจนั่ง/ยืนหรือนอนให้นมลูกก็ได้ หลังคลอดแม่อาจปวดบาดแผลจากการคลอดหรือการผ่าตัด การวางลูกนอนบนเตียงข้างๆแม่แล้วหันหน้าเข้าหาลูก ค่อยๆ เคลื่อนเข้าใกล้ลูกจนกระทั่งหัวนมสัมผัสกับริมฝีปาก เมื่อหัวนมอยู่ในตำแหน่งที่เหมาะสม แม่อาจใช้นิ้วเขี่ยที่มุมปากเพื่อให้ลูกอ้าปากหัวนม จากนั้นใช้นิ้วกันเต้านมออกจากจมูกลูกเพื่อให้ลูกหายใจได้สะดวก กรณีท่านั่งเมื่อแม่สามารถหาที่นั่งได้เหมาะสม แม่อาจใช้หมอนหรือหมอนอิงรองแขนช่วยให้ผ่อนคลาย ลดความเมื่อยล้าลง เมื่อแม่รู้สึกผ่อนคลายจะทำให้แม่ผลิดน้ำนมได้มาก และถ้าแม่ตึงเครียดน้ำนมก็จะผลิตออกมาได้น้อย แม่อาจหาเวลาพักผ่อนนอนหลับสัก 15 นาที ก่อนลูกตื่นหรือหันไปทำงานอย่างอื่นเพื่อให้เพลิดเพลิน เช่น อ่านหนังสือ ดูทีวี หลังจากนั้นประมาณ 2-3 สัปดาห์ แม่จะผลิตน้ำนมได้มากขึ้น น้ำนมก็จะไหลออกมาเมื่อได้ยินเสียงลูกร้อง
2.น้ำนม น้ำนมจะสร้างในต่อมเล็กๆทั่วเต้านมจากนั้นน้ำนมจะถูกส่งต่อไปยังท่อเล็กๆ และส่งต่อไปยังกระเปาะ (sinus) ตรงกลางบริเวณฐานหัวนม (areola) บริเวณฐานหัวนมที่มีสีดำ เมื่อลูกอมฐานหัวนมเหงือกก็จะบีบน้ำนมจากกระเปาะ ถ้าอมเฉพาะหัวนมน้ำนมก็จะไม่ไหล ลูกจะหงุดหงิดแล้วกัดหัวนมทำให้หัวนมแตกเป็นแผล ดังนั้นจึงต้องพยายามให้ฐานหัวนมเข้าปากลูกให้ได้ ถ้าลูกกัดหัวนมแม่จะต้องหยุดให้นมทันที โดยเอานิ้วมือเข้าที่มุมปากหรือกั้นระหว่างเหงือกเพื่อให้ลูกหยุดดูด หรือดึงปากลูกออกจากหัวนมและค่อยๆให้ใหม่ ถ้าลูกยังกัดหัวนมอีกก็ให้หยุดดูดนม
3.ต่างจิต-ต่างใจ ลักษณะการดูดนมของเด็กจะแตกต่างกัน เช่น
-ลูกดึงหัวนมอย่างแรง ดูดอย่างแรงจนพอใจและบางคนกัดหัวนมด้วย
-ลูกบางคนจะตื่นเต้นกระฉับกระเฉง เวลาที่หาหัวนมไม่เจอก็จะร้อง และพยายามหาให้เจอ
-ลูกบางคนก็จะเรื่อยๆ รอได้ไม่ร้องไห้งอแง
-ลูกบางคนเป็นแบบนักชิม จะดูดนมบ่อยๆ ถ้าปล่อยให้หิวก็จะโกรธ
-ลูกบางคนดูด 2-3 นาที จะหยุดพัก ก่อนที่จะเริ่มต้นดูดใหม่ ดูดได้ดีแต่ต้องใช้เวลานาน
ลูกจะโกรธและหัวเสียถ้าแม่จับศีรษะของลูกและบีบแก้มให้ลูกอ้าปาก ถ้าจะให้ดีเพียงแต่แม่เอาแก้มลูกแนบที่อกแม่ ช่วยลูกหาหัวนมแม่ให้เจอแล้วเขี่ยข้างแก้มเพื่อให้ลูกอ้าปากงับหัวนม
4.การผลิตน้ำนม น้ำนมจะไหลดีในวันที่ 2-3 และกรณีลูกคนที่สองน้ำนมจะไหลตั้งแต่วันแรกหรือวันที่สอง วันแรกหลังคลอดเด็กจะตื่นและหิวบ่อยๆ ทุกๆ 2-3 ชั่วโมง เด็กจะตื่นและหิวประมาณ 10-12 ครั้งต่อวัน ในวันต่อมาเด็กจะตื่นทุก 3-4 ชั่วโมง นั่นคือ เด็กจะดูดนมวันละ 6-8 ครั้ง การให้นมลูกบ่อยๆ จะช่วยกระตุ้นให้แม่ผลิตน้ำนมได้มากขึ้นและเต้านมไม่คัด แต่เมื่อลูกดูดนมบ่อยๆ จะทำให้แม่กังวลเกรงว่าจะผลิตน้ำนมไม่ทันเพราะลูกกำลังเจริญเติบโตดังนั้นแม่ไม่ควรกังวลให้มากนัก
5.เมื่อใดควรให้นมลูก ระยะแรกให้นมทันทีที่ลูกหิวและนานเท่าที่ลูกต้องการ ในสัปดาห์แรกให้อุ้มลูกดูดนมนาน 20 นาที ต่อมายืดเวลานานขึ้นเป็น 30 นาทีถ้าหัวนมไม่เจ็บ ให้นมทุก 2-3 ชั่วโมง เพื่อให้น้ำนมไหลได้ดี (Let down reflex) แม่ที่ประสบความสำเร็จในการเลี้ยงลูกคนก่อนจะไม่รีบร้อนให้นมลูกหลังจากให้นมเพียงหนึ่งชั่วโมง และไม่ให้นมลูกทุกครั้งที่ลูกร้อง เพราะลูกอาจร้องจาการระคายเคืองหรืออ่อนเพลียก็ได้  แม่ที่กังวลและไม่มีประสบการณ์จะให้นมลูกทุกครั้งที่ลูกร้อง และจะรู้สึกอ่อนเพลียที่ต้องเลี้ยงลูกทั้งวันและต้องตื่นกลางดึกขึ้นมาให้นมลูกอีก ความวิตกกังวลที่เกิดขึ้นจะรบกวนการหลั่งน้ำนม ทำให้น้ำนมไม่พอได้ แม่ควรให้ลูกดูดนมห่างกันอย่างน้อย 2 ชั่วโมง อาจยอมปล่อยให้ลูกร้องกวนสักพักแล้วลูกจะหลับต่อไปได้เอง ถ้าลูกนอนไม่หลับอาจให้น้ำหรือให้หัวนมหลอก และถ้าลูกยังร้องกวนอีกอาจอุ้มขึ้นมาแนบอกให้ลูกดูดนมสักพักไม่ควรนานเกิน 20 นาที ในกรณีที่ลูกดูดนมน้อยๆแต่บ่อยๆ ควรให้ดูดนมนานอย่างน้อย 20-30 นาที
6.ให้นมข้าวเดียวหรือสองข้าง เด็กบางคนดูดนมข้างเดียวก็อิ่มและดูดอีกข้างในมื้อถัดไป แต่บางคนดูดไม่อิ่มและดูดข้างหนึ่งประมาณ 100-15 นาที จนหมดแล้วไปดูดอีกข้างหนึ่งจนหมดในเวลาอีก 15 นาที ควรให้ลูกหยุดดูดนมหลังดูดนมนานถึง 30 นาที เมื่อเต้านมแห้งจะกระตุ้นให้มีการสร้างน้ำนมใหม่ขึ้นมาอีก
7.มีน้ำนมเพียงพอหรือไม่? การดูว่าลูกดูดนมพอหรือไม่อาจดูได้จากที่ลูกแสดงท่าทางพอใจและมีความสุข ไม่ร้องกวนและหลับต่อได้ เต้านมแม่ที่เต่งตึงจะแฟบลงและน้ำหนักของลูกเพิ่มขึ้น
การดูแลหัวนม
ควรนวดเต้านมในเดือนสุดท้ายก่อนคลอดอย่างสม่ำเสมอและนวดต่อไปจนคลอด ทำความสะอาดหัวนมก่อนให้ลูกดูดนมหลังให้นมเสร็จควรเช็ดหัวนมด้วยน้ำสะอาดและปล่อยให้แห้งประมาณ 10-15 นาทีก่อนใส่ยกทรง
ปัญหาระหว่างให้นมลูก
1.หัวนมบอด อาจใช้หัวนมปลอม (nipple shield) เพื่อดึงหัวนมออกมาก่อนให้นม เพื่อช่วยให้ลูกอมหัวนมได้ และช่วยบีบน้ำนมออกมาด้วย
2.หัวนมแตก แม่บางคนอดทนมากปล่อยให้ลูกดูดนมแรงๆ หรือยอมให้ลูกกัดหัวนม ซึ่งจะทำให้หัวนมแตกและปวดอย่างมาก
วิธีแก้ไข
-หยุดให้นมข้างนั้น 1-2 วัน หรือให้ดูด 3 นาที ทุก 8 ชั่วโมง และทาหัวนมด้วยครีม
-ควรปล่อยให้หัวนมแห้งนานประมาณ 15 นาที ก่อนให้นมทุกครั้ง
-ให้ดูดนมข้างเดียว(ข้างปกติ)และบีบน้ำนมข้างที่หัวนมแตกออกวันละ 2-3 ครั้ง เพื่อไม่ให้เต้านมคัด
-หลังจากหยุดพักไม่ให้ลูกดูดนม 24-48 ชั่วโมงแล้ว หัวนมที่แตกจะดีขึ้น จึ่งเริ่มให้นมช่วงสั้นๆ เพียง 5 นาที ในวันแรก 100นาทีในวันที่สองและ 15 นาทีในวันที่สาม ถ้าเจ็บหัวนมอีกครั้งควรให้ลูกหยุดดูด การให้นมผ่านทาง nipple shield จะไม่ได้ผล เพราะหัวนมไม่ได้พักและน้ำนมออกมาน้อย
3.หัวนมคัด ถ้ามีการสร้างน้ำนมมาก จะทำให้หัวนมแข็งและแบน ลูกจะอมหัวนมยากดังนั้นต้องบีบน้ำนมออกเล็กน้อย เพื่อให้หัวนมนิ่มและลูกสามารถอมหัวนมเข้าในปากได้
4.เต้านมคัด เต้านมจะใหญ่ทั้งเต้า แข็งและเจ็บ ฉะนั้นต้องทำให้หัวนมนิ่มก่อนโดยการบีบน้ำนมออกเล็กน้อยเพื่อจะเอาหัวนมเข้าปากได้ หรืออาจบีบน้ำนมออกด้วย
5.หัวนมแตกและเป็นหนอง จะมีอาการปวดบวมเฉพาะบริเวณหัวนมของแม่ การแก้ไขเบื้องต้นอาจใช้วิธีใช้น้ำแข็งประคบบริเวณที่ปวดบวม ถ้าบริเวณหัวนมไม่เป็นหนองอาจให้นมลูกจะช่วยลดอาการปวดบวดได้ นวดบริเวณเต้านมบริเวณที่คัดและใส่ยกทรงพยุงเต้านมไว้ ถ้ามีไข้ เต้านมเป็นไตแข็ง มีอาการเจ็บปวดอย่างมากและผิวหนังเป็นสีแดง อาจมีการติดเชื้อก็ควรพบแพทย์
วิธีการบีบน้ำนมออก
-ใช้นิ้งหัวแม่มือกับนิ้วชี้ ล้างมือให้สะอาดแล้วใช้นิ้วกดบริเวณฐานรอบๆหัวนมสีดำ ใช้นิ้วกดบริเวณนั้นลึกๆ บีบเป็นจังหวะ อาจหมุนนิ้วมือไปรอบๆ การนวดเต้านมอาจเริ่มนวดรอบนอกก่อนแล้วบีบเข้าตรงกลางเข้าหาฐานหัวนม จะใช้ครีมนวดเพื่อไม่ให้ระคายเคืองผิวหนังก็ได้ นวดให้หายคัดวันละหลายๆครั้ง
-ใช้นิ้วหัวแม่มือกับถ้วย
-ใช้ที่ปั๊มน้ำนมออก
หัวนมปลอม
กรณีที่หัวนมของแม่บอด แม่อาจใช้หัวนมปลอม (nipple shirld) เป็นแก้วหรือยางก็ได้ สวมที่หัวนม เมื่อเด็กดูดหัวนมยางจะทำให้เกิดสุญญากาศในถ้วยโคน และดึงเอาฐานหัวนมสีดำเข้ามาในถ้วยจึงทำให้น้ำนมไหลออกมา
การหย่านม
หลังอายุ 6 เดือน ลูกอาจสนใจดูดนมน้อยลง ต้องการเล่นกับแม่มากกว่า เมื่อลูกเริ่มจับแก้วนมได้แล้ว อาจหัดให้ดื่มนมจากแก้วหรือดูดจากขวด แล้วค่อยๆ หย่านม ถ้าแม่ลาพักหลังคลอดได้เพียงสามเดือนและมีน้ำนมไม่เพียงพอ หรือลูกร้องไห้บ่อยๆ  และน้ำหนักเพิ่มขึ้นน้อย อาจให้นมผสมเพิ่ม วิธีการหย่านมเริ่มต้นด้วยการให้ลูกหยุดดูดนมแม่มื้อ ตีสอง สี่ทุ่ม และมื้อบ่ายสองโมงไปก่อน เมื่อหยุดดูดนมแม่หนึ่งมื้อก็จะต้องให้นมขวดทดแทน 1 มื้อ แล้วค่อยๆ หย่านมแม่ หลังจากหยุดนมแม่ลูกควรได้รับนมอย่างน้อย 16 ออนซ์
ถ้าเต้านมคัดจะต้องบีบหรือปั๊มน้ำนมออก เด็กอายุมากกว่าสามเดือนจะมีน้ำย่อยสำหรับย่อยอาหารจึงควรเริ่มให้อาหารเสริมร่วมด้วย การให้นมแม่สามารถให้ได้ถึง 2 ขวบ
ตอบคำถาม
ถาม 1. ขนาดเต้านมมีผลต่อการผลิตน้ำนมหรือไม่
ตอบ ขณะตั้งครรภ์ขนาดเต้านมจะขยายใหญ่ขึ้นจากการกระตุ้นของฮอร์โมน ขนาดเต้านมเล็กมีไขมันน้อย ขนาดเต้านมใหญ่มีไขมันมาก ถึงแม้เต้านมจะเล็กก็สามารถผลิตน้ำนมได้เพียงพอ
ถาม 2. ยาสามารถผ่านน้ำนมได้หรือไม่
ตอบ ยาหลายชนิดสามารถผ่านมาน้ำนมแม่ได้ เพราะฉะนั้นจะต้องระมัดระวังในการใช้ยาและเครื่องดื่มขณะให้นมลูก แต่ยารักษาโรคหวัดค่อนข้างปลอดภัยไม่มีปัฯหาระหว่างให้นมลูก
ถาม 3. ระหว่างให้นมลูกประจำเดือนจะมาปกติไหม
ตอบ ขณะให้นมลูกประจำเดือนอาจขาดหายไปหรือมาไม่สม่ำเสมอได้เพราะระดับฮอร์โมนบางชนิดยังมีระดับสูงอยู่
ถาม 4 ระหว่างให้นมลูกควรกินอาหารอย่างไร
ตอบ แม่ควรกินอาหารที่มีประโยชน์และมีคุณค่าทางอาหาร แคลเซี่ยมจะถูกขับออกมาทางน้ำนมจะช่วยให้เด็กเจริญเติบโต แม่บางคนที่ต้องการลดน้ำหนัก อาจงดอาหารแคลอรี่สูง เช่น คุกกี้ ขนมหวาน แต่ไม่ควรงดอาหารจำพวกนม ผัก ผลไม้ เนื้อ และวิตามิน
ถาม 5 แม่ที่ทำงานนอกบ้านจะให้นมแม่ได้ไหม
ตอบ แม่ที่สามารถหยุดพักหลังคลอดได้เพียงสามเดือนอาจบีบน้ำนมเก็บไว้ในตู้เย็นสำหรับให้ลูก ระหว่างไปทำงานและให้ลูกดูดนมแม่ก่อนแม่ไปทำงานและหลังเลิกงาน อาจเก็บน้ำนมเผื่อไว้หนึ่งมื้อเวลาฉุกเฉินก็ได้
ถาม 6 แม่ไม่สบายสามารถให้นมลูกได้หรือไม่
ตอบ ถ้าแม่ไม่สบายและมีไข้จำเป็นต้องหยุดให้นมลูก เพราะเชื้อโรคอาจติดต่อมายังลูกได้
ถาม 7 ถ้าลูกกัดหัวนม ควรจะทำอย่างไร
ตอบ ถ้าลูกฟันกำลังขึ้นหรือมีฟันประมาณ 2-3 ซี่ ลูกจะมันเขี้ยวอาจกัดหัวนมแม่เป็นแผลและเจ็บได้ แม่อาจใช้นิ้วสอดระหว่างเหงือกเพื่อสอนให้ลูกไม่ให้กัดและพูดว่า อย่า ทำแบบนี้จะหยุดลูกไม่ให้กัดหัวนมแม่ได้ ถ้าลูกยังกัดอีกให้ทำซ้ำแบบเดียวกันและบอกว่า อย่า ทุกครั้ง


 Union Library Management : ULibM
Copyright 2025. All Rights Reserved.