|
ข่าว: นาฬิกาทราย
โดย
อชิร ห้องสมุดโรงพยาบาลยุวประสาทไวทโยปถัมภ์
อชิร เมื่อ15:58 19/สิงหาคม/2563 (4 ปี 10 เดือนที่แล้ว) |
นาฬิกาทราย
เด็กเล็กๆ ยังไม่ได้สนใจนาฬิกาหรือปฏิทิน เด็กยังไม่เข้าใจอย่างถ่องแท้เกี่ยวกับวัน สัปดาห์หรือเดือน จนกระทั่งอายุประมาณ 7-8 เดือน เด็กพอจะรู้เรื่องเวลาบ้าง ปลายขวบปีแรกเด็กจะเริ่มชัดเจนเกี่ยวกับเวลามากขึ้น เขารับรู้ว่าอะไรเกิดขึ้นก่อนและหลังอีกสิ่งหนึ่ง เมื่ออายุ 2 ขวบ เด็กจะรับรู้ว่าวันหนึ่งมีเหตุการณ์เกิดขึ้นตั้งหลายอย่าง แม้ว่าเด็กจะไม่รู้เวลาที่แน่นอน แต่เมื่อแม่บอกว่า “ถึงเวลากินข้าว” “ถึงเวลาเข้านอน” เด็กก็จะรู้ได้จากการจดจำบางส่วนของประสบการณ์ที่เกิดขึ้นก่อนหน้านั้น
การรับรู้เวลาเกิดขึ้นอย่างช้าๆ
เด็กเข้าใจความหมายของเวลามากขึ้นถ้าพ่อแม่พูดถึงเวลากับเด็กบ่อยๆ ความหมายของเวลาในเด็กจะแตกต่างกับในผู้ใหญ่ เช่น เด็กบอกว่าเมื่อวานนี้อาจหมายถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นก่อนหน้านี้ พรุ่งนี้อาจหมายถึงเหตุการณ์ที่กำลังจะเกิดขึ้น เด็กอายุ 2 ขวบ พอจะรับทราบและเข้าใจเวลาอย่างง่ายๆ ได้ เด็กจะเข้าใจเรื่องเวลาโดยการเชื่อมโยงกับกิจวัตรประจำวัน เด็กอายุสองขวบครึ่งอาจพูดว่า “หนูไม่ได้เห็นตั้งนานแล้ว” ทั้งๆที่เหตุการณ์เพิ่งเกิดขึ้นได้ไม่นาน
เด็ก 2-3 ขวบ จะรู้ถึงความแตกต่างระหว่างกลางวันกับกลางคืนอย่างง่ายๆ แต่เด็กไม่สามารถใช้คำพูดได้ถูกต้อง เด็กอายุ 3-4 ขวบจะสามารถเล่าเหตุการณ์ลำดับก่อนหลังได้ และเมื่ออายุ 5-6 ขวบ เด็กสามารถใช้คำว่าเมื่อวาน วันนี้ และพรึ่งนี้ได้อย่างถูกต้อง
การเรียนรู้เรื่องเวลา
-พ่อแม่อาจจะพูดกับลูกให้เข้าใจเรื่องเวลาโดยการเชื่อมโยงเวลากับการกระทำหรือกิจวัตรประจำวัน เช่น ควรพูดว่า “แม่จะกลับมาหลังจากลูกตื่นนอน” แต่ไม่ควรพูดว่า “เดี๋ยวแม่จะมา”
-ไม่ควรเปลี่ยนแปลงกิจวัตรประจำวันบ่อยๆ และไม่ควรหยุดกิจวัตรประจำวันบางอย่าง ถ้ามีเวลาจำกัด ควรทำกิจวัตรอย่างรวบรัด เช่น แทนที่จะอาบน้ำครึ่งชั่วโมงอาจใช้วิธีล้างหน้าแทน เพราะเด็กรับรู้เวลาจากลำดับเหตุการณ์ในแต่ละวัน การทำกิจกรรมสั้นๆ ดีกว่าไม่ทำเลย
-อย่าลืมพูดถึงเวลาอย่างง่ายๆ เช่น พี่นกจะมาที่บ้านหลังอาหารเย็น
-ถ้าแม่จะต้องไปประชุมที่ต่างจังหวัดหลายๆ วัน ควรให้เด็กเข้าใจว่าแม่จะกลับมาเร็วที่สุด ควรบอกเด็กว่าแม่จะไม่อยู่บ้านหนึ่งคืนก่อนเดินทาง ไม่ควรบอกล่วงหน้าหลายวัน เพราะเด็กจะกังวลและย้ำให้เด็กมั่นใจว่าแม่จะกลับมาเร็วที่สุด บอกหรืออธิบายง่ายๆ ว่าแม่จะไม่อยู่บ้านนานเท่าไร ควรโทรศัพท์มาพูดคุยกับเด็กทุกวัน ถ้าเป็นไปได้ควรโทรมาเวลาเดียวกัน ถ้าเด็กไม่ต้องการพูดโทรศัพท์ ให้บอกเด็กว่าแม่จะโทรศัพท์มาอีก เพื่อที่จะให้เด็กรู้ว่าเขาจะได้ยินเสียงแม่อีกในเวลาเดียวกัน
-เมื่อจะพูดถึงเวลา อาจพูดว่าวันนี้วันจันทร์ เราทำอะไรบ้างในวันนี้ แต่ถ้าเป็นเด็กโต 4-5 ขวบ เราอาจถามว่าพรุ่งนี้เด็กต้องการทำอะไร ถ้าเด็กบอกว่าต้องการปั้นแป้ง เด็กๆต้องเตรียมอะไรบ้าง 1,2,3 เมื่อทำเสร็จอาจถามเด็กว่า วันนี้เราทำอะไร เมื่อวานนี้เราทำอะไรมาบ้าง เพื่อให้เด็กเรียนรู้รื่องเวลาได้ดีขึ้น
|
|