|
ข่าว: ชวนพ่อช่วยเลี้ยงลูก
โดย
อชิร ห้องสมุดโรงพยาบาลยุวประสาทไวทโยปถัมภ์
อชิร เมื่อ07:35 5/สิงหาคม/2563 (4 ปี 11 เดือนที่แล้ว) |
ชวนพ่อช่วยเลี้ยงลูก
คู่สมรสหลายคู่อาจไม่ได้พูดคุยตกลงกันเกี่ยวกับการแบ่งภาระหน้าที่ในบ้าน แม่บ้านจำนวนมากต้องออกไปทำงานนอกบ้าน และต้องรับภาระทำงานบ้าน เลี้ยงลูกด้วย ถ้าครอบครัวใดที่เลี้ยงลูกยาก ปลอบยาก นอนยากและกินยากแม่จะรู้สึกเหนื่อยล้าอดนอนบ่อยๆ ทำให้แม่หงุดหงิดได้มาก ดังนั้นแม่จำเป็นต้องได้รับความช่วยเหลือจากพ่อในการเลี้ยงลูก และบ่อยครั้งจะพบว่าความเชื่อบางอย่างมีผลต่อการเลี้ยงลูก เช่น
1.ความเชื่อเกี่ยวกับบทบาทหญิง/ชาย
คนส่วนมากยังมีความเชื่อว่าหญิงชายควรมีบทบาทต่างกัน ผู้ชายควรทำงานนอกบ้านหารายได้หลักให้ครอบครัว ทำงานบ้านในลักษณะดูแลซ่อมแซมเครื่องใช้ในบ้านและเครื่องยนต์กลไก ผู้หญิงมีบทบาททำงานบ้านและดูแลลูกๆ มีคนจำนวนมากที่เชื่อว่าหน้าที่เลี้ยงดูลูกเป็นหน้าที่ของผู้หญิง
2.ความรู้สึกของพ่อ
พ่อหลายคนมักพูดว่า “ลูกยังเล็กอุ้มไม่ถนัดกลัวลูกจะหล่น รอให้ลูกโตอีกหน่อยจึงค่อยอุ้ม” ซึ่งอาจทำให้เสียเวลาที่มีค่าไป และขณะที่รอนั้นแม่ก็กลายเป็นผู้เชี่ยวชาญในการเลี้ยงดูลูก
3.ไม่รู้จักวิธีจัดการกับเด็ก
พ่อที่ไม่มีโอกาสได้ดูแลลูกอาจไม่มั่นใจว่าจะจัดการกับลูกอย่างไรเวลาลูกร้องไห้ ลูกเจ็บไข้ไม่สบาย เป็นต้น จึงปล่อยให้เป็นภาระของแม่ ขณะเดียวกันพ่อคอยสั่งกำกับให้แม่ทำโน่นทำนี่ให้ลูก ในความเป็นจริงไม่ใช่ว่าผู้หญิงจะมีสัญชาติญาณในการดูแลลูกมากกว่าผู้ชาย บางครั้งผู้หญิงก็งุ่มง่ามและมีความยากลำบากในการเลี้ยงดูลูกเช่นกันโดยเฉพาะลูกคนแรก
4.ไม่มีแบบอย่าง
ตัวอย่างบทบาทของพ่อในการเลี้ยงดูลูกมีให้ดูน้อย เพราะชายในสมัยก่อนยกภาระการเลี้ยงลูก และดูแลความเรียบร้อยในบ้านให้เป็นหน้าที่ของผู้หญิง
5.พ่อไม่มีโอกาสได้ดูแลลูก
บางครั้งแม่หรือผู้ใหญ่ในบ้านจะไม่ไว้วางใจให้ผู้ชายดูแลลูกๆ เกรงว่าจะทำได้ไม่ดีเท่าที่ควร เวลาพ่อจะทำอะไรให้ลูก แม่หรือยายจะแย่งไปทำหมดหรือจะพูดในลักษณะที่ทำให้พ่อไม่มั่นใจ
พ่ออาจมีบทบาทในการดูแลลูกด้านต่างๆ เช่น ป้อนนม ป้อนอาหาร เปลี่ยนผ้าอ้อม/เสื้อผ้า อาบน้ำ พาลูกเข้านอน อ่านหนังสือนิทาน ซ่อมของเล่น ห้ามทัพเวลาลูกทะเลาะกัน ช่วยดูแลการบ้านลูกๆ ฝึกวินัยให้ลูก พ่ออาจช่วยอธิบายกฎระเบียบของบ้าน กำกับดูแลให้ลูกๆ ทำตามกฎ แก้ไขเมื่อลูกทำพฤติกรรมไม่เหมาะสม ถ้าหากพ่อช่วยแม่อบรมครูก็จะเป็นผลดีอย่างยิ่ง นอกจากนี้พ่ออาจมีส่วนร่วมในการทำงานบ้านอื่นๆ เช่น ซื้อของ จ่ายกับข้าว เตรียมอาหาร ล้างขวดนม ซักผ้า ทำความสะอาดบ้านได้
แม่หลายคนอาจกังวลค่อนข้างมากในการเลี้ยงลูกโดยเฉพาะลูกคนแรก และบางครั้งแม่อาจเหนื่อยล้าที่ต้องทำงานนอกบ้าน และดูแลแม่ด้วย ถ้าหากพ่อมีส่วนร่วมในการดูแลลูกและช่วยงานบ้านหลังเลิกงานและในวันหยุด จะทำให้ลูกได้รับประสบการณ์ที่หลากหลายในการเลี้ยงดูและสามารถลดภาระของแม่ได้ด้วย พ่อจะเป็นคนที่ช่วยให้ลูกรู้สึกปลอดภัย ช่วยส่งเสริมพัฒนาการและส่งเสริมความมั่นใจให้แก่ลูก
6.วิธีสำหรับการขอความช่วยเหลือ
ถ้าหากแม่ต้องการความช่วยเหลือในการเลี้ยงลูก มีวิธีการขอความช่วยเหลือ ดังนี้
6.1 พูดขอความช่วยเหลือ
พ่อหลายคนมีความพร้อมเต็มใจและมีความสามารถที่จะดูแลลูก ถ้าหากแม่พูดขอร้องให้ช่วยเลี้ยงดูลูกและช่วยงานบ้านบางอย่าง หรือทำความตกลงกันตั้งแต่ต้นในการเลี้ยงลูก
6.2 ให้ทำตามแบบฉบับของเขา
การดูแลลูกอาจแตกต่างกันในแต่ละบุคคลและไม่สามารถบอกได้ว่าใครถูกใครผิด ถ้าพ่อถูกตำหนิในเรื่องการดูแลลูกบ่อยๆ จะทำให้พ่อบ้านท้อและหยุดทำ แม่ควรให้พ่อเลี้ยงดูลูกตามแบบฉบับของเขาเอง
6.3 การให้กำลังใจ
บางครั้งพ่ออาจไม่รู้วิธีในการดูแลลูกซึ่งพ่อต้องการเรียนรู้วิธีที่ถูกต้อง ถ้าหากพ่อได้รับกำลังใจและได้รับคำชมบ่อยๆ จะทำให้พ่อมั่นใจและต้องการดูแลลูกมากขึ้น เช่นเดียวกันถ้าคุณแม่คนใหม่ได้กำลังใจจากครอบครัว พยาบาลและเพื่อนๆ จะทำให้แม่มั่นใจเพิ่มขึ้นด้วย
6.4 แชร์ส่วนดีและไม่ดี
พ่อแม่อาจจะต้องผลัดเปลี่ยนกันทำในสิ่งที่ชอบและไม่ชอบ เช่น การเปลี่ยนผ้าอ้อม สลับกับการทำกิจกรรมที่สนุก/ชอบ เช่น การเล่นกับลูก อ่านนิทานให้ลูกฟัง ฯลฯ
6.5 ทิ้งภาระให้พ่อดูแลลูก
บางครั้งแม่อาจนัดเพื่อนๆ ไปเที่ยวนอกบ้าน ดูหนัง ช๊อบปิ้งแล้วให้พ่ออยู่กับลูกๆตามลำพังบ้าง ซึ่งพ่ออาจรู้สึกตกใจบ้างที่จะต้องดูแลลูกคนเดียว แต่ในสถานการณ์ที่จำเป็นเช่นนี้พ่อจะสามารถดูแลลูกๆ ได้ แม่ควรเปิดโอกาสให้พ่อสนุกสนานกับประสบการณ์นั้นๆ แล้วพ่อจะรู้สึกภูมิใจกับความสำเร็จในการเลี้ยงลูก
6.6 ให้พ่อหาหนทางดูแลลูกด้วยตนเอง
ถ้าพ่อทำอะไรผิดพลาดหรือทำได้ไม่สมบูรณ์ เขาจะต้องหาหนทางแก้ไขด้วยตนเอง เช่น ลืมผ้าอ้อม เวลาออกนอกบ้าน เป็นต้น จะทำให้พ่อระมัดระวังในการเตรียมตัวมากขึ้นและถ้าหากเขาทำได้สำเร็จเขาก็จะมั่นใจมากขึ้นในคราวต่อไป
6.7 ให้พ่อดูแลลูกในฐานะพ่อ
พ่อไม่ใช่ผู้ช่วยของแม่ พ่อควรดูแลลูกในฐานะพ่อ (บทบาทพ่อ) เมื่อทั้งคู่ต้องช่วยกันดูแลลูก แม่บางคนจะคอยกำกับพ่อตลอดเวลาที่ดูแลลูก แต่การกระทำเช่นนั้นจะทำให้พ่อหงุดหงิด รำคาญได้ ดังนั้นพ่อควรดูแลลูกในบทบาทของตนเองมากกว่า เด็กต้องการการเลี้ยงดูและการเรียนรู้ที่เหมาะสมและมีความหมายเพื่อให้แด็กมีพัฒนาการที่ดี การชักชวนพ่อมาช่วยดูแลลูกในบทบาทของตนเองจะช่วยพัฒนาลูกเป็นอย่างมาก
|
|