เปลี่ยนเป็นภาษาไทย

Change to English
 ข่าว
  กลับหน้าหลัก
ข่าวทั้งหมด 58
ข่าวที่ปัจจุบัน 0
ข่าว: เด็กออทิสติกมีพฤติกรรมถอนผมตนเองจนแหว่งเป็นจุดๆ
  โดย
อชิร
ห้องสมุดโรงพยาบาลยุวประสาทไวทโยปถัมภ์
อชิร

  เมื่อ08:05 15/กรกฎาคม/2563 (4 ปี 11 เดือนที่แล้ว)
เด็กออทิสติกมีพฤติกรรมถอนผมตนเองจนแหว่งเป็นจุดๆ
           พฤติกรรมถอนผมตนเองจัดเป็นพฤติกรรมที่ทำร้ายตนเองอย่างหนึ่ง ซึ่งสามารถพบได้ในเด็กปกติที่มีภาวะคับข้องทางจิตใจอย่างรุนแรง ในเด็กที่มีภาวะทางจิตบกพร่องหรือป่วยด้วยโรคจิตเวชในเด็ก ผู้ป่วยเด็กออทิสติกที่มีพฤติกรรมทำร้ายตนเองโดยการถอนผมตนเองก็สามารถพบได้บ่อย ซึ่งในปัจจุบันยังไม่สามารถทราบสาเหตุที่แน่นอน  มีเพียงหลักฐานสนับสนุนว่าจะเป็นสาเหตุจากปัจจัยต่างๆ ซึ่งก่อให้เกิดพฤติกรรมในผู้ป่วยแต่ละคนและจากประสบการณ์ของผู้รักษาพอสรุปได้ดังนี้
  1. จากพยาธิสภาพของโรคเอง คือ มีความผิดปกติในสมองส่วนที่เกี่ยวกับการแสดงออกของพฤติกรรมหรือมีระดับของสารเคมีบางตัวในร่างกายผิดปกติ จึงมีโอกาสที่จะมีปัญหาในสัมพันธภาพและด้านสังคมได้ รวมทั้งพฤติกรรมทำร้ายตนเองอย่างรุนแรงซ้ำๆ เช่น โขกศีรษะ หรือถอนผมตนเอง เป็นต้น
  2. จากพยาธิสภาพทางจิตใจ จากการที่เด็กออทิสติกมีการสูญเสียทางด้านสังคม และไม่สามารถมีปฏิกิริยาต่อสัมพันธภาพของบุคคลได้ เช่น การอยู่ในโลกของตนเอง ไม่สนใจใคร มีการกระทำต่อบุคคล หรือสิ่งมีชีวิตคล้ายสิ่งของ และแสดงพฤติกรรมไม่รู้ร้อนรู้หนาวตลอดจนเล่นกับผู้อื่นไม่เป็น ไม่สามารถสื่อความหมายแสดงความต้องการหรือสื่อความหมายให้ผู้อื่นรับรู้และเข้าใจตนเองได้ ซึ่งในบางครั้งทำให้เด็กมีความคับข้องใจอย่างมาก ซึ่งอาจแสดงออกในพฤติกรรมทำร้ายตนเองได้
  3. จากปัจจัยสิ่งแวดล้อมทางด้านสังคม การดำรงชีวิตอยู่ในสังคม เด็กออทิสติกมีเงื่อนไขในการปฏิบัติกิจวัตรประจำวันอย่างมาก ซึ่งจะแสดงออกมาในรูปแบบต่างๆ ที่หลากหลายในแต่ละราย เช่น มีการกระทำและความสนใจซ้ำซากอย่างเด่นชัด มีความคับข้องใจอย่างมากถ้ามีการเปลี่ยนแปลงสิ่งแวดล้อมรอบๆ ตัวหรือที่เกี่ยวกับกิจวัตรประจำวัน เช่น มีการทานอาหารที่ซ้ำซากหรือจากจำเส้นทางเดินทางหรือการจัดสิ่งของให้อยู่อย่างเดิม ถ้ามีการเปลี่ยนแปลงหรือไม่เป็นไปตามสภาพแวดล้อมปกติที่เด็กเคยอยู่จะทำให้เด็กมีความคับข้องใจแสดงพฤติกรรมทำร้ายตนเองได้
           เมื่อเด็กมีพฤติกรรมถอนผมตนเองจนแหว่งเป็นจุดๆ ผู้ดูแลจึงมีความจำเป็นที่จะต้องมีความรู้ความเข้าใจมีประสบการณ์รู้จักสังเกต และค้นหาสาเหตุของพฤติกรรมดังกล่าวว่าเกิดจากสาเหตุใด เพื่อใช้ในการแก้ไขพฤติกรรม แทนการลงโทษเด็กอย่างไม่สมเหตุสมผล และเป็นการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมอันไม่พึงประสงค์ และพัฒนาการเรียนรู้ หากพบว่าพฤติกรรมดังกล่าวไม่ทราบสาเหตุแน่ชัด ซึ่งอาจเกิดจากพยาธิสภาพของโรคในตัวเด็กเอง อาจใช้วิธีแก้ไข ดังนี้
  1. ในสิ่งที่เด็กกระทำโดยตรงและเบี่ยงเบนความสนใจตลอดจนลดความเครียดในเด็ก เช่น การนำวัสดุที่หาได้ในบ้าน เช่น เน็ตคลุมผม หมวกคลุมผมเวลาอาบน้ำ ผ้าคลุมผม หมวก ฯลฯ มาคลุมที่ศีรษะเด็กตลอดเวลา (ยกเว้นเวลาหลับ) ในระยะแรกๆ เด็กอาจจะรำคาญและจะดึงออกตลอดเวลา ผู้ดูแลจึงต้องดูแลอย่างใกล้ชิดและคอยดูแลให้มีการคลุมอยู่ตลอดเวลา ซึ่งเด็กอาจจะร้องหรือมีพฤติกรรมต่อต้านในระยะแรกๆได้ แต่เมื่อเด็กเอามือถอนผมแล้วไม่พบเส้นผม ไม่สามารถถอนผมตนเองได้ ในระยะต่อมา เด็กอาจจะลดพฤติกรรมถอนผมไปในที่สุด
  2. ในขณะเดียวกันการมีการลดความเครียดให้เด็กโดยอาจอาบน้ำให้เด็กมีการสัมผัสลูบไล้ฟองสบู่ได้ตามร่างกายของเด็ก เล่นปูไต่ ชวนเด็กทานขนม โอบกอดแสดงความรักต่อเด็ก เปิดโอกาสให้เด็กเล่นอย่างอิสระหรือหากิจกรรมระบายความโกรธ เช่น ใช้ค้อนตอกลูกไม้กลมๆ ลงตามช่องหรือเล่นในสนามเตะฟุตบอล เป็นต้น


 Union Library Management : ULibM
Copyright 2025. All Rights Reserved.