เปลี่ยนเป็นภาษาไทย

Change to English
 ข่าว
  กลับหน้าหลัก
ข่าวทั้งหมด 58
ข่าวที่ปัจจุบัน 0
ข่าว: เจ้าพ่อตัวน้อย
  โดย
อชิร
ห้องสมุดโรงพยาบาลยุวประสาทไวทโยปถัมภ์
อชิร

  เมื่อ07:42 13/กรกฎาคม/2563 (4 ปี 11 เดือนที่แล้ว)
เจ้าพ่อตัวน้อย
          เด็กที่เอาแต่ใจตัวเอง อาจสืบเนื่องมาจาก การเลี้ยงดูที่ตามใจเด็กมากเกินไป เพราะไม่อยากให้เด็กเสียใจ ร้องไห้เมื่อถูกขัดใจ หรือบางทีก็อาจเนื่องจากผู้ปกครองบางคนไม่ชอบเสียงร้องของเด็ก เพราะรู้สึกรำคาญ ทำให้รู้สึกหงุดหงิด ส่งผลทำให้เด็กกลายเป็นเด็กที่เอาแต่ใจตัวเอง อยากได้อะไรเป็นต้องได้ทุกครั้งไป ไม่รู้จักการรอคอย เมื่อถูกขัดใจก็จะโวยวาย บางคนมีพฤติกรรมทำร้ายตัวเองหรือทำร้ายบุคคลอื่นเพื่อเรียกร้องความสนใจหรือต่อรองกับผู้ปกครอง เมื่อเด็กได้รับการตอบสนองในทำนองนี้ทุกครั้งหรือบ่อยๆ เด็กก็จะเรียนรู้หรือซึมซับเอาพฤติกรรมนั้นไป เมื่อเด็กโตขึ้นก็จะมีปัญหาเรื่องการปรับตัวเข้ากับสังคมและบุคคลอื่น ไม่รู้จักกาละเทศะ รอคอยไม่เป็น เราที่เป็นพ่อและแมจะช่วยลูกอย่างไร เมื่อลูกของเราเป็นเจ้าพ่อตัวน้อย
        วิธีการช่วยเหลือหรือการปรับพฤติกรรมเพื่อลดความเป็นเจ้าพ่อตัวน้อยมีอยู่มากมายหลายอย่าง แล้วแต่ว่าเราจะเลือกใช้วิธีไหนให้เข้ากับลูกของเรา ในที่นี้จะขอยกตัวอย่างที่เคยทำมาแล้วได้ผลอีกวิธีหนึ่ง คือ การเพิกเฉย (Ignoring) การเพิกเฉย คือ การที่ไม่สนใจพฤติกรรมที่เด็กแสดงออก แต่การเพิกเฉยต้องคำนึงถึงอันตรายที่จะเกิดกับเด็กด้วย ถ้าสิ่งไหนเป็นอันตรายกับเด็กเราก็คงจะนิ่งดูดายหรือเพิกเฉยไม่ได้
          ตัวอย่างที่จะพูดถึงก็คือ เด็กเขาเป็นเด็กที่เอาแต่ใจตัวเองมากและปรับปรุงยาก เพราะถูกเลี้ยงแบบตามใจตลอด ไม่เคยถูกขัดใจเลย เวลาถูกขัดใจก็จะร้องไห้โวยวายนานหลายๆชั่วโมง และยังมีพฤติกรรมทำร้ายตัวเองและผู้อื่นอีกต่างหาก ทำร้ายตนเองโดยวิ่งกระแทกประตู เอาศีรษะโขกประตูและโขกพื้น ทำร้ายคนอื่นโดยการหยิก ข่วน นอกจากทำร้ายบุคคลแล้วยังมีพฤติกรรมทำลายข้าวของด้วย เด็กเขาโกรธทุกอย่างที่ขวางหน้า ไม่ว่าจะเป็นคนหรือสิ่งของ เราก็เลยปรับพฤติกรรมที่เป็นปัญหาโดยเริ่มจาก
  1. ขัดใจทีละน้อยๆก่อน เพื่อไม่ให้เด็กรู้สึกว่าถูกหักหาญน้ำใจมากเกินไป ค่อยๆ ให้เรียนรู้ไปทีละนิดว่า สิ่งที่เขาต้องการบางครั้งได้ บางครั้งก็ไม่ได้ ทำแบบนี้ประมาณ 3-4 สัปดาห์ ช่วงแรกๆ เด็กก็จะร้องไห้โวยวายมากเพราะไม่เคยถูกขัดใจ
  2. ให้เด็กรู้จักคำว่า “ไม่” หรือ “ไม่ได้” เวลาเด็กร้องไห้หรือฃี้จะเอาสิ่งของที่ต้องการ เราไม่ให้ก็ต้องบอกทุกครั้งว่า “ไม่ได้” เด็กก็จะเริ่มเรียนรู้การถูกขัดใจ
  3. เบี่ยงเบนความมั่นใจ เวลาที่เด็กร้องจะเอาของที่ต้องการ เราไม่ให้สิ่งของนั้นกับเด็ก แต่เปลี่ยนเป็นอย่างอื่น ให้ของเล่นแทน เพราะธรรมชาติของเด็กชอบของเล่น เด็กเล่นของเล่นสนุกก็จะค่อยๆลืมสิ่งที่อยากได้
  4. ไม่ให้สิ่งที่ต้องการที่ไม่จำเป็นทุกครั้ง เด็กเขาก็เริ่มเรียนรู้ว่าถึงต่อรอง อย่างไรก็ไม่ได้ผล สุดท้ายพฤติกรรมการต่อรองก็จะลดลง
          จะเห็นว่าสิ่งที่เราคิดว่ายาก ไม่สามารถแก้ไขได้ เป็นเรื่องที่ง่ายขึ้น ถ้าเราจะใจแข็งสักนิด เพื่อให้เด็กเขามีพฤติกรรมที่สังคมยอมรับ และอยู่ร่วมกับบุคคลอื่นได้ จากตัวอย่างที่เล่ามา ใช้เวลาในการติวเข้มประมาณ 2 เดือน เด็กเริ่มมีพฤติกรรมที่ดีขึ้น โวยวายลดลง รู้จักการรอคอย ลดการทำร้ายตนเองและผู้อื่น เด็กบางรายอาจจะต้องใช้เวลานาน ผู้ปกครองต้องใจแข็งในบางโอกาส ถ้าเราใจอ่อนเด็กก็จะต่อรองกับเราอยู่เรื่อยๆ ก็ไม่เกิดการเรียนรู้กับพฤติกรรมใหม่ เพราะฉะนั้นต้องขึ้นอยู่กับผู้ปกครองด้วย เพื่อเราจะได้ลูกน้อยคนใหม่ที่ไม่ใช่เจ้าพ่อ

 Union Library Management : ULibM
Copyright 2025. All Rights Reserved.