วิธีจัดการกับพฤติกรรมก้าวร้าวของเด็กออทิสติก
ไปรยา จิระอรุณ
พยาบาลวิชาชีพ
ในการส่งเวรแต่ละวันของพยาบาล มักมีรายงานเสมว่า”วันนี้ดรีมคว่ำถาดอาหาร””นกตบหน้านักศึกษาที่มาดูงาน””พยาบาลถูกบิ๊กกัด”หรือ”เคนเนธโขกศีรษะกับพื้นอีกแล้ว”พฤติกรรมเหล่านี้เป็นพฤติกรรมก้าวร้าวในลักษณะต่างๆ ของเด็กออทิสติก ซึ่งอาจเกิดขึ้นหรือไม่เกิดขึ้นก็ได้ แล้วแต่บุคคล แต่พบว่าเด็กออทิสติกนั้นแสดงความก้าวร้าวได้บ่อย เนื่องจากมีปัญหาการปรับตัวในสังคม และมีความจำกัดด้านการพูดสื่อความหมาย ประกอบกับเด็กออทิสติกย่างเข้าสู่วัยรุ่น ซึ่งอาจมีการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมน ทำให้เกิดพฤติกรรมก้าวร้าวได้มากขึ้น การแสดงพฤติกรรมก้าวร้าวของเด็กออทิสติกนั้นมีลักษณะ และความรุนแรงแตกต่างกันไป โดยแบ่งได้เป็น 3 ประเภท ที่พบเห็นได้บ่อย คือ
- ทำร้ายตนเอง เช่น ตีศีรษะ โขกศีรษะกับพื้น กัดมือตนเอง กระแทกตัวกับเก้าอี้
- ทำร้ายผู้อื่น เช่น ตบหน้า กัด ใช้นิ้วจิ้มตา เตะถีบ ดึงผม ล็อคคอ กระชากคอเสื้อ
- ทำลายสิ่งของ เช่น ล้มตู้ คว่ำถาดอาหาร ทุ่มเก้าอี้ ขว้างปาข้าวของ
เมื่อเกิดพฤติกรรมก้าวร้าวนั้น จะทำให้เกิดความเสียหายหลายประการ เช่น เด็กอาจบาดเจ็บ ข้าวของเสียหาย ซึ่งถ้าพฤติกรรมก้าวร้าวเกิดขึ้นที่โรงพยาบาล จะมีเจ้าหน้าที่ที่มีความรู้และมีอุปกรณ์ที่จะหยุดพฤติกรรม หรือทำให้เขาสงบลงได้ แต่มีผู้ปกครองหลายท่าน ปรารภว่าไม่รู้ว่าจะทำอย่างไรดี เวลาเด็กเกิดอาละวาดที่บ้าน เพราะไม่มีความรู้ว่าจะจัดการอย่างไรกับลูกดี ผู้เขียนจึงรวบรวมเทคนิคและวิธีดูแลเด็กออทิสติก เมื่อเกิดพฤติกรรมก้าวร้าว เพื่อเป็นแนวทางให้กับพ่อ แม่ ผู้ปกครอง และผู้ดูแลเด็ก สามารถดูแลและจัดการกับพฤติกรรมก้าวร้าว ที่เกิดขึ้นได้อย่างเหมาะสม เพื่อลดความรุนแรงและอันตราย ที่จะเกิดขึ้นกับตัวเด็กเอง ผู้อื่นและทรัพย์สิน
เทคนิคและวิธีการจัดการกับพฤติกรรมก้าวร้าว
- ยอมรับอารมณ์ความรู้สึกของเด็กในเวลานั้น เช่น เขาอาจโกรธ กลัวอยู่ แต่ต้องไม่ยอมรับพฤติกรรมก้าวร้าวนั้น เช่น บอกว่า “แม่รู้ว่าลูกโกรธ แต่ไม่ควรปาข้าวของแบบนี้”
- หยุดพฤติกรรมนั้นทันที เมื่อเห็นว่าเป็นอันตรายต่อเด็ก ผู้อื่นและทรัพย์สิน เช่น ถ้าเด็กใช้มือทุบศีรษะอยู่ให้จับมือเด็กไว้
- แยกเด็กออกจากกลุ่มหรือสิ่งของที่เป็นอันตราย เช่น ถ้าเด็กขว้างปาสิ่งของ ให้พาเด็กออกจากตรงนั้น และให้อยู่ในห้องที่โล่ง ไม่มีสิ่งของที่เด็กจะทำลาย หรือใช้เป็นอาวุธได้ และเฝ้าดูแลอย่างใกล้ชิด
- พูดปลอบโยน เข้าหาเด็กด้วยท่าทีสงบ มั่นคง พูดด้วยน้ำเสียงนุ่มนวล เพื่อให้เด็กคลายความกังวล เกิดการไว้วางใจ ไม่แสดงอาการตื่นตกใจหรือกลัว เพราะจะทำให้เขาคิดว่าเขาสามารถควบคุมสถานการณ์ได้ และไม่ควรตะโกนดุด่า หรือมีท่าทีคุกคามเด็กเพราะจะทำให้เด็กกลัว และแสดงพฤติกรรมก้าวร้าวมากขึ้น
- ค้นหาสาเหตุและปัจจัยกระตุ้นให้เกิดความก้าวร้าว และสอบถามความต้องการ เช่น เด็กอาจจะถูกเพื่อนแกล้ง อากาศร้อน มีเสียงรบกวน ให้แยกออกจากสิ่งเร้านั้น สอบถามว่าเด็กต้องการอะไร เช่น อยากกลับบ้าน หิวข้าว หรือในเด็กที่พูดไม่ได้ อาจเสนอสิ่งที่เขาชอบ และตอบสนองความต้องการตามความเหมาะสม
- การแสดงความก้าวร้าวบางครั้งอาจเป็นการเรียกร้องความสนใจ เช่น ใช้มือทุบตู้ให้เกิดเสียงดัง หากพิจารณาแล้ว ว่าไม่เกิดอันตรายก็ให้นิ่งเฉยเสีย ไม่ต้องแสดงความสนใจเด็ก ไม่นานเด็กก็จะหยุดพฤติกรรมเอง
- การผูกมัด จะใช้ในกรณี่ที่เด็กมีพฤติกรรมก้าวร้าวรุนแรงที่เป็นอันตรายต่อตนเอง ผู้อื่น และทรัพย์สิน โดยใช้วิธีดังกล่าวข้างต้นแล้วยังไม่ได้ผลก็ต้องใช้การผูกมัด เพื่อหยุดพฤติกรรม ผู้ปกครองจะต้องหาผู้ช่วยอย่างน้อย 1 คน ในการช่วยจับเด็กหรือช่วยผูกมัด และต้องหาผ้าสำหรับผูก ผ้าที่ใช้ก็หาได้ในบ้าน เช่น ผ้าปูที่นอน หรือผ้าอะไรก็ได้ที่อ่อนนุ่ม และยาวพอจะผูกมัดได้ การผูกมัดจะผูกไว้กับเก้าอี้ โต๊ะ หรือเตียง ที่มีน้ำหนักพอสมควรที่เด็กจะไม่สามารถเคลื่อนที่ไปได้ มัดในส่วนที่เด็กใช้ทำร้าย เช่น ถ้าใช้มือทุบศีรษะก็มัดมือ ข้อสำคัญ อย่ามัดแน่นจนเกินไป หมั่นตรวจดูบริเวณที่มัดไม่ให้เกิดรอยเขียวช้ำหรือเกิดบาดแผล
- เมื่อเด็กสงบลง ควรชี้แจงเหตุผลที่ไม่ควรกระทำ พฤติกรรมก้าวร้าวและเหตุผลของการผูกมัด และตกลงเงื่อนไขกับเด็ก เฃ่น “ถ้านั่งเฉยๆ ไม่อาละวาดอีก อีก 10 นาทีจะแก้มัดให้” และต้องทำตามข้อตกลงอย่างเคร่งครัด
- ให้เด็กรับผิดชอบต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น เช่น เด็กขว้างแก้วน้ำลงพื้น น้ำหกเลอะเทอะ ให้เด็กนำผ้ามาเช็ดพื้นให้เรียบร้อย หรืออาจลงโทษเด็กโดยงดกิจกรรมที่เขาชอบในวันที่เด็กมีพฤติกรรมก้าวร้าว
- จัดให้เด็กมีกิจกรรมที่ฝึกการควบคุมตนเอง และได้ระบายอารมณ์อย่างเหมาะสม เช่น เล่นกีฬา ให้รับผิดชอบงานง่ายๆ เช่น เช็ดโต๊ะ
- กล่าวคำชมเชย เมื่อเด็กสามารถควบคุมอารมณ์และแสดงออกได้อย่างเหมาะสม
- ทำให้เด็กดูเป็นตัวอย่างในการไม่ใช้อารมณ์ในการแก้ปัญหา เช่น ทุบตี ด่าทอ
- คอยสังเกต และป้องกัน เหตุการณ์ที่คาดว่าเด็กจะแสดงพฤติกรรมก้าวร้าว
- ในบางรายที่มีพฤติกรรมก้าวร้าวรุนแรงมากอาจปรึกษาแพทย์ เพื่อพิจารณาให้ยาเพื่อลดและควบคุมพฤติกรรมก้าวร้าว
ปัญหาความก้าวร้าวรุนแรง จะส่งผลต่อร่างกายและจิตใจของเด็กเอง ผู้คนรอบข้าง และทรัพย์สิน แต่เราสามารถป้องกันและช่วยกันแก้ไขได้ ถ้าเราตระหนักถึงความสำคัญและแก้ไขแต่เนิ่นๆ ดังคำกล่าวที่ว่า “ไม้อ่อนดัดง่าย ไม่แข็งดัดยาก” ซึ่งใช้ได้กับทุกคนไม่เว้นแม้แต่กับเด็กออทิสติก ซึ่งต้องอาศัยความรัก ความเอาใจใส่ของทุกฝ่าย ทั้งพ่อแม่ ผู้ปกครองและเจ้าหน้าที่โรงพยาบาล ที่ดูแลเด็กทุกท่าน วิธีดังกล่าวข้างต้นอาจใช้ไม่ได้ผลกับเด็กทุกคนทุกข้อ ไม่มีข้อใดถูกข้อใดผิด ต้องปรับใช้ผสมผสานกันไปให้เหมาะสมกับเด็กและครอบครัว ซึ่งอาจได้ผลบ้างไม่มากก็น้อย เป็นการช่วยเหลือให้เขาเป็นเด็กออทิสติกที่น่ารักต่อไป
|