|
ข่าว: การรับประทานอาหารซ้ำๆ ในเด็กออทิสติก
โดย
อชิร ห้องสมุดโรงพยาบาลยุวประสาทไวทโยปถัมภ์
อชิร เมื่อ09:01 2/กรกฎาคม/2563 (5 ปี 11 วันที่แล้ว) |
การรับประทานอาหารซ้ำๆ ในเด็กออทิสติก
น้องมีน เป็นเด็กผู้ชายอายุ 5 ขวบ หน้าตาน่ารัก แพทย์รับไว้รักษาในแผนกผู้ป่วยใน ของโรงพยาบาลยุวประสาทไวทโยปถัมภ์ ได้ประมาณ 1 เดือนแล้ว ทุกๆครั้งของมื้ออาหารกลางวัน พยาบาลสังเกตพบว่า หากมีข้าวกับไข่เจียว น้องมีนจะรับประทานอาหารอาหารได้มาก แต่หากวันไหน ทางตึกเบิกอาหารอื่นที่มิใช่ไข่เจียว น้องมีนจะหงุดหงิด อารมณ์เสีย ไม่ยอมรับประทานอาหารมื้อนั้นเลย และชี้นำไปที่อาหารถาดของเด็กอื่นที่เป็นข้าวกับไข่เจียว
วันหนึ่งพยาบาลได้มีโอกาสพบกับคุณน้าของน้องมีน ที่มารับ-ส่งน้องมีน พยาบาลจึงได้เข้าไปพูดคุยด้วย และทราบว่าที่บ้านของน้องมีนก็มีปัญหาเช่นเดียวกับทางโรงพยาบาล คือน้องมีนมักรับประทานแต่ข้าวกับไข่เจียว ซึ่งทางบ้านก็ไม่รู้จะแก้ไขอย่างไรดี จึงต้องตามใจน้องมีนเรื่อยมา เพราะมิเช่นนั้นน้องมีนก็จะไม่ยอมรับประทานอาหารเลย ดังนั้นคุณน้าของน้องมีนจึงถามจากพยาบาลว่ามีวิธีการที่จะช่วยเหลือน้องมีนได้อย่างไร จากการสังเกตของพยาบาลพบว่าคุณน้าของน้องมีนมีสีหน้ากังวลอย่างเห็นได้ชัด จึงพูดคุยและปลอบโยนคุณน้าน้องมีนว่า การรับประทานข้าวกับไข่เจียวเพียงอย่างเดียวในเด็กออทิสติก หรือปัญหาการรับประทานอาหารซ้ำๆ สามารถแก้ไขได้ คุณน้าของน้องมีนจึงถามพยาบาลต่อว่าแล้วจะทำอย่างไรดีละคะ พยาบาลจึงตอบว่า การปรับพฤติกรรมการรับประทานอาหารซ้ำๆ ในลักษณะเช่นนี้สามารถทำได้ไม่ยากเลยค่ะ ในขณะที่อยู่ที่บ้าน การจัดที่นั่งในการรับประทานอาหารอาจจัดให้น้องมีนสลับที่กับ พี่ๆ น้องๆ หรือคุณพ่อ คุณแม่ คุณน้า ที่นั่งรับประทานอาหารในโต๊ะเดียวกัน และถ้าเมื่อใดที่สังเกตพบว่าน้องมีนเริ่มสนใจอาหารของพี่ๆ น้องๆ หรืออาหารของคุณพ่อ คุณแม่ ที่นั่งอยู่ใกล้เคียงกัน ก็ต้องรีบตอบสนองน้องมีนทันที โดยอาจให้น้องมีนชิมอาหารที่สนใจทีละน้อย ซึ่งถ้าน้องมีนชอบ ก็ต้องรีบเปลี่ยนหรือสลับที่อาหารที่น้องมีนชอบเข้าไปใกล้ๆ น้องมีนนะคะ และที่สำคัญในการฝึกปรับพฤติกรรมการรับประทานอาหารซ้ำๆ ของน้องมีน ทุกคนที่บ้านต้องเข้าใจและพร้อมใจกันในการให้ความช่วยเหลือน้องมีน ต้องปฏิบัติไปในแนวทางเดียวกัน หากที่บ้านมีใครปฏิบัติไม่เหมือนกันเด็กจะสับสนซึ่งอาจทำให้การปรับพฤติกรรมการรับประทานอาหารซ้ำๆ ของน้องมีนไม่ได้ผล และที่สำคัญนะคะ ไม่ควรใช้ขนมเป็นรางวัลในการเสริมแรง หากว่าน้องมีนสามารถรับประทานอาหารประเภทอื่นได้ นอกเหนือจากไข่เจียวนะคะ เพราะว่าอาจจะเป็นปัญหาในการฝึกน้องมีนในเรื่องการรับประทานอาหารต่อไป คุณน้าของน้องมีนมีสีหน้าสดชื่นขึ้นเล็กน้อย ถึงถามพยาบาลต่ออีกว่า ถ้าหากน้องมีนปฏิเสธ ไม่ยอมรับประทานอาหารที่สลับให้นอกเหนือจากไข่เจียวละคะควรจะทำอย่างไรดี พยาบาลจึงตอบว่า คุณน้าก็อาจปรุงแต่งรูปลักษณ์ของอาหารนะคะ โดยปกติ ถ้าน้องมีนรับประทานไข่เจียวกับข้าว เพียงอย่างเดียว อาจเพิ่มหมูสับ พวกผักต่างๆ เช่น แครอท มะเขือเทศ ลงไปในไข่เจียว แล้วลองให้น้องมีนรับประทานดู ในระยะแรก เด็กอาจจะต้านบ้าง แต่ก็ต้องอดทนกับปฏิกิริยาของเด็ก ถ้าน้องมีนไม่ยอมรับประทานก็ต้องรอให้น้องมีนหิว เพราะเด็กหิว ความต้องการในการรับประทานอาหารจะมีมากขึ้น จากนั้นจึงเริ่มให้ลองรับประทานจะมีมากขึ้น จากนั้นจึงเริ่มให้ลองรับประทานอาหารใหม่ โยอาจให้ในปริมาณน้องๆ สัก1-2ช้อน หรือ 1-2คำก่อน และผู้ป้อนก็ต้องมีสีหน้ายิ้มแย้มด้วยนะคะ เพราะจะทำให้เด็กมีความรู้สึกว่าไม่ได้เป็นการบังคับ ให้รางวัลโดยการชมเชยบ้าง เมื่อน้องมีนยอมรับประทานอาหารนั้น แล้วจึงตามด้วยการป้อนอาหารเดิมที่เด็กชอบเพื่อเป็นรางวัล ค่อยๆเพิ่มปริมาณอาหารใหม่ ทีละน้อย จนเด็กไม่ปฏิเสธ จึงเริ่มเปลี่ยนเป็นอาหารใหม่ชนิดอื่นต่อไป หลังจบการสนทนาคุณน้าของน้องมีนมีสีหน้าสดชื่นกว่าครั้งแรกมาก จึงบอกกับพยาบาลว่า ต่อไปนี้จะลองไปทำดู หากได้ผลยังไง จะมาบอกคุณพยาบาล
หลังจากนั้นคุณน้าของน้องมีนได้ลองพยายามปรับพฤติกรรมการรับประทานอาหารซ้ำๆ ของน้องมีน ซึ่งก็ได้ผลน่าพิใจในระดับหนึ่ง เดี๋ยวนี้น้องมีนคนเก่งเริ่มรับประทานอาหารอื่นนอกเหนือจากไข่เจียวได้แล้ว และน้องมีนคงจะเริ่มรับประทานอาหารชนิดอื่นๆ ได้อีกต่อไป
|
|