เปลี่ยนเป็นภาษาไทย

Change to English
 ข่าว
  กลับหน้าหลัก
ข่าวทั้งหมด 58
ข่าวที่ปัจจุบัน 0
ข่าว: พฤติกรรมซ้ำๆ ของเด็กออทิสติกแก้ไขได้หรือไม่
  โดย
อชิร
ห้องสมุดโรงพยาบาลยุวประสาทไวทโยปถัมภ์
อชิร

  เมื่อ08:34 26/มิถุนายน/2563 (5 ปี 17 วันที่แล้ว)
พฤติกรรมซ้ำๆ ของเด็กออทิสติกแก้ไขได้หรือไม่
          เราอาจเห็นพฤติกรรมซ้ำๆ ของเด็กออทิสติกได้ตั้งแต่เล็กในการเล่นของเด็ก เช่น เปิด-ปิดไฟ การเปิดให้ม้วนเทปหมุนไป-มา หมุนล้อรถไป-มา ส่วนเด็กออทิสติกที่โตแล้ว พฤติกรรมซ้ำๆ ก็จะออกมาในรูปของการไม่ยอมเปลี่ยนแปลงกิจวัตรประจำวัน เช่น เคยเดินทางเส้นทางไหนจะต้องใช้เส้นทางนั้นไม่ยอมเปลี่ยน ก่อนอื่น เราต้องเข้าใจว่าการมีพฤติกรรมซ้ำๆ ของเด็กออทิสติกนั้นมีสาเหตุ เช่น ความตึงเครียด ความกังวล ซึ่งอาจจะส่งผลกระทบต่อชีวิตประจำวันได้ เนื่องจากไม่แน่ใจว่าตนเองกำลังถูกคุกคามหรือไม่ หืออะไรจะเกิดขึ้นกับตน ประกอบกับความบกพร่องทางการสื่อสารทำให้ไม่สามารถสื่อความต้องการกับคนอื่นได้ ฉะนั้นแนวทางการแก้ไขคือช่วยให้เด็กปรับตัวได้ดีขึ้น
          การช่วยให้เด็กปรับตัวได้ดีขึ้นทำได้อย่างไร
  1. ต้องกำหนดพฤติกรรมเป้าหมายให้ชัดเจน
  2. ไม่แก้ไขพฤติกรรมซ้ำๆ โดยการขัดขวางไม่เด็กทำ เช่น ทุกครั้งที่พาเด็กออกจากบ้าน ผู้ปกครองต้องการให้เด็กไม่ถือเศษขยะเพื่อแกว่งเล่น ผู้ปกครองไม่ห้ามเด็กหรือดุเด็กเมื่อเด็กถือเศษขยะแกว่งเล่น
  3. ให้ทำในพฤติกรรมที่เหมาะสม เช่น ให้ผู้ปกครองมอบหมายให้เด็กช่วยถือของ อย่าลืมถ้าเด็กช่วยถือของแล้วต้องให้คำชมเชยเพื่อให้เกิดแรงจูงใจ
  4. ให้รางวัลหรือแรงเสริมเมื่อเด็กกระทำพฤติกรรมที่เหมาะสม
  5. การบอกให้เด็กทำอะไรต้องใช้คำพูดที่สั้นๆ ชัดเจน
  6. การแก้ไขต้องทำในลักษณะนี้ทุกครั้ง
  7. ขยายผลไปทำในสถานการณ์อื่นๆต่อไป
  8. สิ่งที่สำคัญที่สุดคือ การแก้ไขทุกคนในครอบครัวต้องทำไปในทิศทางเดียวกันอย่างสม่ำเสมอ
คำถาม
  • เด็กชายอายุ  3 ปี 4 เดือน วินิจฉัยเป็นออทิสติก มีพฤติกรรมชอบเอาของเล่นมาวางเรียงดินสอสีเป็นแถวๆ หรือไม่ก็เอาบัตรคำภาพสัตว์มาเรียงเป็นแถวๆ ได้ โดยเรียงแบบเดิมซ้ำซากได้ตลอดเวลา ถ้าพ่อหรือแม่เข้าไปหยิบออกหรือเปลี่ยน เด็กจะหงุดหงิด โวยวาย ผู้ปครองอยากแก้ไขความซ้ำซากว่าควรทำอย่างไร เพราะเด็กจะไม่สนใจอะไรเลย ยากต่อการสอน
คำตอบ
  • จากข้อมูลของผู้ปกครองเด็กมีความสนใจการทำกิจกรรมซ้ำๆ ในสิ่งที่ตัวเองสนใจ และมีความจำดีในเรื่องการจำสี จำภาพ แต่ไม่เข้าใจความหมายของภาพและสี การมีพฤติกรรมซ้ำซากนาน จะทำให้เด็กอารมณ์แปรปรวนง่าย ขี้โมโห
วิธีการปรับ
  1. เก็บดินสอสี และบัตรคำที่เด็กชอบเล่นมาเรียงไม่ให้มีโอกาสได้เห็นอีกเลย
  2. ทำสื่อการสอนเป็นบัตรคำสัตว์ บัตรคำสี ชุดใหม่ และเริ่งต้นการสอนโดยเปลี่ยนวิธีการใหม่ให้เด็กดูบัตรคำที่จะมีภาพพร้อมกับออกเสียงชื่อบัตรคำให้ดูและฟังแบบเร็วๆ เพราะเร็วๆ เพราะถ้าช้าเด็กจะแย่งไปเล่นเอง เด็กมีความจำดี ก็จะจำภาพกับชื่อภาพได้
  3. เมื่อสอนบัตรคำเสร็จให้เก็บทันที ห้ามให้เด็กเอามาเรียงเล่นอีกเด็ดขาด เพราะเด็กจะกลับไปซ้ำซากเหมือนเดิม
  4.  สังเกตเด็กว่ามีความสนใจ และร่วมมือ ไม่แย่ง ก็ให้เพิ่มวิธีการวางบัตรคำทีละภาพบนโต๊ะ ให้เด็กหยิบภาพตามคำสั่งส่งให้ผู้ปกครอง
  5. เมื่อเด็กหยิบบัตรคำได้คล่องให้เพิ่มจำนวนบัตรคำ ให้เลือกหยิบตามคำสั่งทีละภาพๆ จากตัวเลือก 2-3 ตัวเลือก
  6. เมื่อเด็กหยิบถูกต้อง ต้องให้คำชมเชย เด็กก็จะรู้สึกสนุกกับการเรียนรู้ใหม่ แทนการทำพฤติกรรมซ้ำซากเหมือนเดิม
  7. ผู้ปกครองต้องอดทน ไม่ยอมให้เด็กกลับไปเรียงของ หรือทำพฤติกรรมซ้ำซากเหมือนเดิมอีก
คำถาม
  • เด็กชายอายุ 3 ปี วินิจฉัยเป็นออทิสติก นั่งนิ่งๆ ทำกิจกรรมไม่ได้นาน เดินได้ทั้งวัน ชอบรื้อค้นสิ่งของมาเล่น แต่เล่นได้ระยะสั้นๆเท่านั้น ถ้าอยากให้ลูกนั่งนิ่งๆได้บ้างควรทำอย่างไรดี ให้รับประมาณยาจะช่วยได้บ้างหรือเปล่า
คำตอบ
  • จากข้อมูลที่ผู้ปกครองถาม เด็กยังมีศักยภาพที่ดี คือสนใจสิ่งของที่ต้องการนำมาเล่น แต่ขาดการสอน การเล่นที่ถูกวิธีและไม่ได้รับการปรับพฤติกรรมที่จะทำกิจกรรมที่ลุกจากที่นั่งยาก
วิธีการปรับ
  1. จัดมุมให้นั่งทำกิจกรรมที่ลุกจากที่นั่งยาก ไม่มีสิ่งรบกวนสมาธิให้วอกแวก
  2. เตรียมของเล่น 1-3 ชุด เช่น บล็อกโดนัท บล็อกรูปทรง บล็อกลูกคิด ที่เล่นง่าย เห็นผลสำเร็จเร็ว
  3. แบ่งเวลาการฝึกกิจกรรมขั้นแรก 5-15นาที ปรับให้เด็กนั่งประจำที่ เล่นของเล่นที่เตรียมจบชุด ให้คำชมเชยเมื่อเด็กทำได้ตามเป้าหมาย
  4. ถ้าเด็กขัดขืนพยายามลุกออกจากที่ให้สวมกอด เบี่ยงเบนและปรับให้เด็กเล่นของเล่นที่กำหนดไว้จบชุด
  5. เพิ่มระยะเวลานั่งเป็น 15-30 นาที เพิ่มชนิดของเล่น เพื่อพัฒนาความสมมารถขึ้นเรื่อยๆ
  6. ผู้ปกครองต้องใช้ความอดทน ระยะแรกของการฝึก เมื่อเด็กเริ่มเกิดการเรียนรู้ และสนใจสิ่งที่สอน เด็กก็จะมีสมาธิเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ อาการซุกซนก็จะลดลง
  7. ถ้าหลังจากฝึกเต็มที่แล้วอาการซุกซนยังไม่ดีขึ้น ไม่สามารถนั่งนิ่งๆ ทำกิจกรรมได้ ควรปรึกษาแพทย์
คำถาม
  • น้องเต้อายุ 2 ปี 8 เดือน มีอาการร้องไห้แบบหวาดกลัว ไต่ตามตัวของแม่ ให้อุ้มตลอดเวลา ไม่ยอมมองหน้าผู้ฝึกกิจกรรม เด็กมีอาการเหงื่อออกท่วมตัว ถึงแม้แม่จะปลอบโยนอย่างไรเด็กก็ไม่เข้าใจเหตุผล ไม่ยอมฟังสิ่งที่แม่พูด ถูกเนื้อต้องตัวไม่ได้เลย ขณะที่ปล่อยเด็กยืนกับพื้น เด็กเดินเขย่งปลายเท้าตลอดเวลาจนปลายเท้าบริเวณนิ้วก้อยเป็แผลด้าน แม่กลุ้มใจมากไม่รู้จะช่วยลูกอย่างไรดี เด็กร้องไห้นาน 30-40 นาที จนหลับไปเอง
คำตอบ
  • จากข้อมูลของผู้ปกครอง ผู้ปกครองมีความเครียดและวิตกกังวลกับอาการของเด็กอย่างมาก เพราะการปรับตัวของน้องเต้ค่อนข้างยากกกว่าผู้อื่น เทคนิคการพูดคุยที่ช่วยลดความวิตกกังวล จะมีผลต่อตีวน้องเต้ด้วย อธิบายกับผู้ปกครองว่า อาจต้องใช้เวลาในการให้น้องเต้ปรับตัวนานหน่อย แต่ก็จะได้ผลโดยการเร้าความสนใจ และต่อรองให้ทำกิจกรรมกระตุ้นประสาทสัมผัสทั้งห้าไปด้วย
วิธีการปรับ
  1. ให้ผู้ปกครองอุ้มเด็กไว้ ผู้ฝึกพูดคุยกับผู้ปกครอง โดยที่ทำเฉยเมยไม่สนใจต่อพฤติกรรมการร้องของเด็ก ซึ่งใช้เทคนิคการเบี่ยงเบน พร้อมกับสร้างสัมพันธภาพกับผู้ปกครองโดยที่เด็กจะรู้สึกว่าบุคคลนั้นรู้จักกับผู้ปกครองของตนเอง
  2. ขณะที่พูดคุยกับผู้ปกครองให้เริ่มสร้างสัมพันธภาพโดยการเรียกชื่อเด็ก และลูบตามแขน และขาของเด็ก ถ้าเด็กไม่ขยับแขน ขา หลบ ให้นวดขา แขนและมือต่อ พยายามเรียกชื่อให้เด็กมองหน้าสบตา ให้สังเกตว่าเรียกร้องลดลงหรือไม่
  3. กระตุ้นความสนใจโดยให้ดูบัตรท่องจำ ก-ฮ ของเล่นซ้ำ โดยการส่งให้เด็กรับหรือจับใส่มือ สังเกตการเล่นว่าเด็กร่วมมือหรือไม่ จึงเพิ่มชนิดของของเล่นที่กระตุ้นความสนใจ จึงเพิ่มการออกคำสั่งให้ทำตาม จนเด็กหยุดร้องไห้
  4. พยายามให้ผู้ปกครองปล่อยเด็กให้นั่งที่เก้าอี้ด้วยตนเองแทนการอุ้มไว้ เมื่อเด็กเพลิดเพลินอยู่กับการเล่นของเล่น และให้คำชมเชยเมื่อเด็กเล่นได้ตามที่วางวัตถุประสงค์ไว้
  5. ประเมินความก้าวหน้าของการปรับตัวให้ผู้ปกครองลดความวิตกกังวล และร่วมวางแผนการฝึกกิจกรรมต่อ เน้นการฝึกให้เด็กรับฟังคำสั่ง เข้าใจทำตาม กระตุ้นประสาทสัมผัสทั้งห้า ฝึกทักษะการเล่น แนะนำการสวมรองเท้าที่ช่วยลดอาการเขย่งปลายเท้า ฝึกทักษะด้านคำศัพท์ และแนะนำการช่วยเหลือตนเอง
คำถาม
  • บุตรชายอายุ 2 ปี เป็นเด็กออทิสติก ผู้ปกครองมีความวิตกกังวล อยากทราบว่า เด็กจะหายเป็นปกติ เมื่ออายุเท่าไร
คำตอบ
  • เด็กที่ได้การวินิจฉัยเป็นนออทิสติก สามารถช่วยรักษาให้อาการดีขึ้นได้ โดยความร่วมมือของทีมทางการแพทย์กับตัวผู้ปกครองเอง ผู้ปกครองเริ่มเอาเด็กมารักษาเร็วเมื่ออายุยังน้อยถือว่าโชคดี เพราะจะช่วยส่งเสริมพัฒนาการให้รู้เรื่องเร็วขึ้น อาการซ้ำซากหรือเปลี่ยนแปลงยากก็ยังไม่มาก การปรับทางด้านอารมณ์ก็ยังไม่มาก ถ้าผู้ปกครองเข้าใจวิธีการฝึกก็จะทำให้เด็กมีอาการดีรวดเร็วขึ้น และสามารถดำรงชีวิตอยู่ในสังคมได้เหมือนกับผู้อื่น การตอบคำถามว่าจะหายเป็นปกติเมื่ออายุเท่าไร เป็นคำตอบที่ค่อนข้างยาก แต่การฝึกให้เด็กดีขึ้นตามลำดับนั้น สามารถทำให้เกิดขึ้นได้
คำถาม
  • บุตรอายุ 3 ปี ยังไม่ออกเสียงพูด รู้สึกกลุ้มใจและเป็นทุกข์มาก จะมีวิธีการทำอย่างไรให้ลูกพูดได้
คำตอบ
  • การช่วยให้ลูออกเสียงพูดได้ ต้องเริ่มต้นที่ผู้ปกครองมีการปรับตัวยอมรับแนวทางการช่วยเหลือบุตร การพูดเป็นเพียงส่วนหนึ่งของการพัฒนาให้เด็กรู้เรื่องขึ้น แต่นอกเหนือจากการพูด เด็กต้องการได้รับการส่งเสริมพัฒนาการด้านอื่นๆ ด้วย ได้แก่ การฝึกกล้ามเนิ้อมัดเล็ก-ใหญ่ การช่วยเหลือตนเองในชีวิตประจำวันให้ได้


 Union Library Management : ULibM
Copyright 2025. All Rights Reserved.