ความเข้าใจภาวะโรคอารมณ์สองขั้วยังเป็นเรื่องใหม่ในสังคมไทย โอกาสที่จะได้อ่านเรื่องราวดีๆ จากผู้ผ่านประสบการณ์ตรงมีไม่มากนัก เนื่องจากการไม่ยอมรับว่ามีโรคนี้อยู่จริง ทำให้ผู้ที่ผ่านประสบการณ์ตรงต้องเผชิญกับทั้งตัวโรคและยังต้องเผชิญกับทัศนะของผู้คนที่ไม่ยอมรับจนไม่อยากเล่าเรื่องเหล่านี้ให้ใครฟัง
ในความเป็นจริงมีผู้ที่ต้องเผชิญกับภาวะโรคอารมณ์ซึมเศร้าในสังคมไทยปีละประมาณหนึ่งจุดห้าล้านคน และเข้าถึงการรักษาเพียงร้อยละสามสิบเท่านั้น ส่วนหนึ่งมาจากความไม่รู้ว่าตนเองกำลังตกอยู่ในภาวะโรค ส่วนหนึ่งไม่อยากรับการรักษา ส่วนหนึ่งเริ่มรักษาแต่ไม่ต่อเนื่องเพียงพอจนหายขาด
"ถ้าสังเกตได้ว่า ความคิด ความเครียด หรือพฤติกรรมต่างๆ ที่เป็นผลจากอารมณ์เริ่มส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตปกติ ความสัมพันธ์กับคนรอบข้าง สังคม หรือการทำงาน แสดงว่าเริ่มมีปัญหาทางจิตเวชควรไปพบจิตแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัยและรักษา" เก็บมาเล่าจากในเล่มเพื่อช่วยให้ทุกท่านค่อยๆเห็นภาพผลพวงจากอารมณ์ที่เปลี่ยนแปลงผลกระทบที่เกิดขึ้น กระบวนการจากการวินิจฉัยและรักษา และการคลี่คลายตนเอง
หนึ่งประสบการณ์ตรงจากคนชอบเขียนและจดอะไรต่างๆอยู่เสมอ บันทึกนี้เป็นความงดงามที่ได้บอกเล่าเรื่องการเดินทางจนขึ้นไปบนยอดภูเขาน้ำแข็ง เพื่อให้คนอีกหลายคนเปิดใจรับสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นกับตนเอง เปิดใจรับคนใกล้ตัวที่กำลังเผชิญอาการเจ็บป่วย เปิดใจให้กับทุกคนที่ไม่ได้อยากซึมเศร้าหดหู่มากขนาดนี้
คำนิยม โดย แพทย์หญิงพรรณพิมล วิปุลากร รองอธิบดีกรมสุขภาพจิต
|